วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

แนวทางการดำเนินงาน “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา”

จากการประชุมตัวแทนครั้งที่ 1/2555 วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ 2555 และการจัดเสวนา วันเสาร์ที่ 31 มี.ค.55 ได้กำหนดวัตถุประสงค์หลัก คือ การพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงเข้มแข็ง ดำรงไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ์ศรีในวิชาชีพ เพื่อคุณภาพการศึกษาไทย โดยมีแนวทางการดำเนินงาน ดังต่อไปนี้

1. ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ประธานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา หรือ กพอ.) โดยมี 2 ประเด็นหลักๆ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณขั้นต่ำสำหรับพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา 1.5 - 1.7 เท่าของเงินเดือนข้าราชการแรกบรรจุ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2555
ประเด็นที่ 2 ให้กำหนดหรือบังคับมหาวิทยาลัยจัดสวัสดิการและผลประโยชน์เกื้อกูลต่างๆ ให้กับพนักงานมหาวิทยาลัยโดยให้เทียบเท่ากับข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ได้แก่ การรักษาพยาบาล เงินประจำตำแหน่งทางวิชาการ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และความมั่นคงในการทำงาน
* ยื่นข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางการบริหารพนักงานมหาวิทยาลัยต่อประธาน กพอ. เพื่อให้กำกับดูแลมหาวิทยาลัยต่างๆ

2. จัดตั้งเครือข่ายพนักงานในส่วนภูมิภาค โดยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย (ระบุชื่อมหาวิทยาลัย)” และกำหนดให้มีผู้ประสานงานหลักในแต่ละมหาวิทยาลัย เพื่อความเข้มแข็งและทำงานร่วมกับ “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ส่วนกลาง

3. ทำเรื่องของพนักงานมหาวิทยาลัยให้เป็นประเด็นสาธารณะ โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจกับพนักงานมหาวิทยาลัยและผู้บริหาร รวมทั้งขยายแนวคิดให้กว้างขวางและสร้างความตระหนักแก่คนในสังคม ดังนี้
3.1 การจัดเสวนาวิชาการ ครั้งที่ 1 จุฬาฯ วันที่ 31 มี.ค.55
3.2 การจัดเสวนาวิชาการ ครั้งที่ 2 ม.ธรรมศาสตร์/มรภ.สวนสุนันทา วันที่ .... พ.ค.55
3.3 การจัดเสวนาวิชาการ ครั้งที่.... สัญจรตามภาคต่างๆ ที่พร้อม
3.4 การออกรายการข่าว สถานีโทรทัศน์ Thai PBS วันที่ 30 มี.ค.55
3.5 การออกรายการสถานีประชาชน สถานีโทรทัศน์ Thai PBS วันที่ 12 เม.ย.55
3.6 ลงข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 1 เม.ย.55
3.7 การเขียนบทความลงหนังสือพิมพ์มติชน (ส่งไปแล้ว)

4. รวบรวบรายชื่อสมาชิกจากมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยจัดทำเป็นเอกสารและทำเว็บไซต์ เพิ่มเติมจาก facebook (หากจะเสนอกฎหมายต้องรวบรวมรายชื่อไม่น้อยกว่า 10,000 คน )

5. แก้ไข พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 เป็น “พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนและพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.......” หรือจัดทำร่างพระราชบัญญัติระเบียบพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยดูตัวอย่างจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

6. แนวทางสุดท้ายหากปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข คือ การชุมนุมประท้วงเรียกร้อง “สิทธิ” (ซึ่งต้องมีแนวร่วมมากพอสมควร)

ทั้งนี้ เพื่อความเป็นเอกภาพและความเข้มแข็งของเครือข่าย การดำเนินกิจกรรมทั้งหมดขอให้ใช้ชื่อ “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” โดยให้ผู้ประสานงานหลักในแต่ละมหาวิทยาลัยลงนามในเอกสารเองได้เลย โดยใช้ชื่อว่า “ผู้ประสานงานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น