วันเสาร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2555

(ร่าง)ข้อตกลงเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.2555

ด้วยพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ได้บัญญัติเพื่อรับรองการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยให้เป็นไปตามข้อบังคับของสภาสถาบันอุดมศึกษา ทำให้เกิดแนวทางในการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาแตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศ​ึกษา จึงได้มีการรวมกลุ่มกันขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” และได้มีการประชุมเพื่อคัดเลือกคณะกรรมการและผู้ประสานงานของแต่ละสถาบัน เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕ ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปแล้วนั้น เพื่อให้การดำเนินงานของเครือข่ายเป็นไปตามวัตถุประสงค์ จึงได้วางข้อตกลงไว้ดังนี้
ข้อ ๑. ข้อตกลงนี้เรียกว่า “ข้อตกลง ว่าด้วย เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พ.ศ.๒๕๕๑”
ข้อ ๒. ข้อตกลงนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศเป็นต้นไป
ข้อ ๓. ในข้อตกลงนี้
“เครือข่าย” หมายความว่า เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
“พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในสถาบันอุดมศึกษา ทั้งที่เป็นส่วนราชการและเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ
ข้อ ๔. เครื่องหมายของเครือข่าย เป็นรูปสัญลักษณ์ตัวแทนพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ๘ สี จับมือสัมพันธ์กันเป็นรูปวงกลม และมีข้อความปรากฏในวงกลม “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ปรากฏตามรูปแบบเครื่องหมายด้านล่าง
ข้อ ๕. สำนักงานของเครือข่าย ให้เป็นไปตามที่ประธานกรรมการกำหนด และให้ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ของเฟสบุ๊ค (facebook) ชื่อ “เครือข่ายพนักงานมหาวิทยาลัย” เป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสารระหว่างพนักงาน
ข้อ ๖. ให้ประธานกรรมการรักษาการให้เป็นไปตามข้อตกลงนี้

หมวด ๑
วัตถุประสงค์
ข้อ ๗. เครือข่ายมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(๑) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ ในการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
(๒) เพื่อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาต่อผู้บริหาร
(๓) เพื่อส่งเสริมมิตรภาพ ความสามัคคี ผดุงเกียรติและศักดิ์ศรีของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา

หมวด ๒
สิทธิและหน้าที่
ข้อ ๘. พนักงานในสถาบันอุดมศึกษามีสิทธิและหน้าที่ ดังนี้
(๑) มีสิทธิใช้หรือประดับเครื่องหมายของเครือข่าย
(๒) มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของเครือข่ายต่อคณะกรรมการ
(๓) มีสิทธิเข้าร่วมประชุมและลงคะแนนเสียงตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงนี้ หรือในระเบียบ ที่คณะกรรมการกำหนด
(๔) มีสิทธิเป็นคณะกรรมการ
(๕) มีสิทธิเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่คณะกรรมการจัดให้มีขึ้น
(๖) มีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อตกลง ระเบียบ หรือประกาศต่างๆ ของเครือข่ายโดยเคร่งครัด
(๗) มีหน้าที่รักษาชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
(๘) มีหน้าที่เผยแพร่ชื่อเสียงของเครือข่ายให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
(๙) มีสิทธิและหน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด ๓
การดำเนินงานของเครือข่าย
ข้อ ๙. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งทำหน้าที่ดำเนินงานของเครือข่าย ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการ
(๒) รองประธานกรรมการ
(๓) เลขานุการ
(๔) เหรัญญิก
(๕) นายทะเบียนและประชาสัมพันธ์
(๗) ฝ่ายกฎหมาย
(๘) กรรมการและผู้ประสานงานแต่ละสถาบัน

ข้อ ๑๐. ให้ที่ประชุมเครือข่ายประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในการเลือกตั้งประธานเครือข่าย พร้อมจัดการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งประธานเครือข่าย
เมื่อเลือกตั้งได้ประธานเครือข่ายแล้ว ให้ประธานเครือข่ายเป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่ง
ข้อ ๑๑. ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งกรรมการตำแหน่งอื่นๆ ตามข้อ ๙ โดยให้แต่งตั้งจากพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ตามความจำเป็นและเหมาะสมในการดำเนินงานของเครือข่าย และเป็นผู้ประกาศแต่งตั้ง
ข้อ ๑๒. คณะกรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละ ๑ ปีนับแต่วันที่มีประกาศแต่งตั้ง และในกรณีที่ประธานกรรมการพ้นจากตำแหน่งให้กรรมการอื่นๆ พ้นจากตำแหน่งด้วย
คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับเลือกตั้งหรือได้รับแต่งตั้งใหม่อีกได้
ในกรณีที่ตำแหน่งกรรมการว่างลงก่อนครบวาระ ให้ประธานกรรมการแต่งตั้งกรรมการใหม่ แทนตำแหน่งที่ว่างนั้น และให้กรรมการผู้นั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของผู้ซึ่งตนแทน
ข้อ ๑๓. ในกรณีที่คณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบวาระแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ ให้คณะกรรมการที่ครบวาระนั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่

ข้อ ๑๔. นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) พ้นจากการเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
(๔) ที่ประชุมเครือข่ายมีมติให้ออก
ข้อ ๑๕. คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑) ดำเนินงานของเครือข่ายให้เป็นไปตามข้อตกลงและวัตถุประสงค์ของเครือข่าย
(๒) วางระเบียบ หรือออกประกาศต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของเครือข่าย
(๓) แต่งตั้งบุคคล หรือคณะบุคคล เพื่อเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นคณะทำงาน หรือคณะอนุกรรมการ อยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคระกรรมการที่แต่งตั้ง
(๔) เรียกประชุมพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา
(๕) หน้าที่อื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงนี้
ข้อ ๑๖. ให้คณะกรรมการจัดการประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการดำเนินงานของเครือข่ายและพบปะกันระหว่างพนักงาน อย่างน้อยปีละ ๑ ครั้ง
ในการประชุม ให้ประธานกรรมการเป็นประธานในการประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่อยู่ในที่ประชุม หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ที่ประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งทำหน้าที่ประธานกรรมการ
การลงมติของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมากในที่ประชุม โดยกรรมการ ๑ คน มี ๑ เสียงในการลงคะแนน
ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีก ๑ เสียงเป็นเสียงชี้ขาด
ในการประชุมต้องมีรายงานการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร ถ้ามีความเห็นแย้งให้บันทึกความเห็นแย้งพร้อมทั้งเหตุผลไว้ในรายงานการประชุม และถ้ากรรมการฝ่ายข้างน้อยเสนอความเห็นแย้งเป็นหนังสือ ก็ให้บันทึกความเห็นแย้งนั้นไว้ด้วย

หมวด ๔
การเงินและบัญชี
ข้อ ๑๗. การเงิน บัญชี และทรัพย์สิน ให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ และให้นำฝากไว้ ในธนาคาร หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ ในนาม “เครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา”
ข้อ ๑๘. การเบิกถอนเงินให้ประธานกรรมการหรือผู้ทำการแทน ลงลายมือชื่อร่วมกับเหรัญญิกหรือเลขานุการ แล้วแต่กรณี
ข้อ ๑๙. ให้ประธานกรรมการมีอำนาจเบิกถอนเงินของเครือข่ายได้ไม่เกินครั้งละ ๓๐,๐๐๐ บาท
(สามหมื่นบาทถ้วน) กรณีเกินกว่า ๓๐,๐๐๐ (สามหมื่นบาทถ้วน) ต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการก่อน
ข้อ ๒๐. เหรัญญิกมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑) เบิกจ่ายเงินและดูแลรักษาเงินของเครือข่ายให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและจัดการด้านการเงินของเครือข่าย ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในข้อตกลงนี้และตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
(๒) จัดทำบัญชีและรายงานฐานะทางการเงินของเครือข่าย เสนอต่อคณะกรรมการตามกำหนดเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
(๓) จัดทำหลักฐานการรับ-จ่ายเงินเป็นลายลักษณ์อักษรโดยต้องมีลายมือชื่อผู้รับผิดชอบ ลงนามไว้ด้วย
(๔) หน้าที่อื่นๆ ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย

หมวด ๕
การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลง
ข้อ ๒๑. การแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลง จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเครือข่าย และให้มีผลใช้บังคับทันที

หมวด ๖
การเลิกเครือข่าย
ข้อ ๒๒. การเลิกเครือข่าย ให้กระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเครือข่าย
ข้อ ๒๓. เมื่อเครือข่ายต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ก็ตาม ทรัพย์สินของเครือข่ายที่เหลืออยู่หลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้บริจาคให้องค์กรสาธารณะตามมติที่ประชุมเครือข่าย

หมวด ๗
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๒๔. ให้ประธานเครือข่ายคนปัจจุบัน ทำหน้าที่ประธานกรรมการตามข้อตกลงนี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการตามข้อ ๑๑ โดยให้ดำเนินการแต่งตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ข้อ ๒๕. ให้กิจกรรมหรือการดำเนินการที่ได้ดำเนินการไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างดำเนินการ ก่อนข้อตกลงนี้ใช้บังคับ เป็นกิจกรรมหรือการดำเนินการตามข้อตกลงนี้


ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๕

(รองศาสตราจารย์ นาวาอากาศโท ดร.สุมิตร สุวรรณ)
ประธานเครือข่ายพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น