วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

สถานภาพอาจารย์พนักงาน ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

สถานภาพอาจารย์พนักงาน ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ

โดย สุรชัย เทียนขาว มหาวิทยาลัยราชภัฏเทพสตรี ลพบุรี

สถาบันอุดมศึกษาของรัฐในปัจจุบันที่อยู่ในสังกัด / กำกับของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มีการก่อรูปแบบการบริหารไปสู่รูปแบบการบริหารสถาบันอุดมศึกษาทั้งที่เป็นส่วนราชการและเป็นมหาวิทยาลัยกำกับรัฐบาลหรือนอกระบบ ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อม ความต้องการของประชาคมและนโยบายแต่ละแห่ง อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ของรัฐ ได้แก่ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชมงคลมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ และมหาวิทยาลัยนครพนม ยังดำรงสถานภาพเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่เป็นส่วนราชการต่อไปอีกหลายปี

เนื่องจากกลุ่มมหาวิทยาลัยต่างๆ เหล่านี้เพิ่งได้รับการยกฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นนิติบุคคลได้ไม่นานมานี้ ยังต้องพัฒนาตนเองไปอีกระยะหนึ่ง แม้ว่าจะมีบางสถาบันประกาศนโยบายนำสถาบันไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนอกระบบก็ตาม ซึ่งมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

กลุ่มมหาวิทยาลัยกลุ่มใหม่ดังกล่าวนี้มีกลุ่มบุคคลที่เข้ามาทำงานในตำแหน่งอาจารย์ที่มีสถานภาพเป็นพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ได้ให้นิยามไว้ว่า เป็นบุคคลที่ได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา

พูดง่ายๆ ก็คือ เป็นลูกจ้างชั่วคราวของสถาบันอุดมศึกษานั่นเอง ไม่มีหลักประกันว่าจะจ้างกี่ปี เลิกจ้างเมื่อไร อัตราเงินเดือน (อัตราค่าจ้าง) เงินเพิ่ม และสวัสดิการต่างๆ รวมทั้งการเข้าสู่ตำแหน่งวิชาการ และเงินประจำตำแหน่ง ขึ้นอยู่กับข้อบังคับของสภาสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดสาระต่างๆ อาจจะมีมาตรฐานที่แตกต่างกันไปของแต่ละสถาบัน

สำหรับสถานภาพของกลุ่มอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา พอที่จะมองเห็นลู่ทางที่ชัดเจนขึ้นด้วยการมองการณ์ไกลของรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีกูรูด้านการบริหารการอุดมศึกษา ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ประดิษฐ์ (invent) ระบบอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ภายใต้พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2 ) พ.ศ.2551

กฎหมายฉบับนี้เป็นผลงานทางด้านการอุดมศึกษาที่โดดเด่นของรัฐบาลสมัยนั้น เนื่องจากมีบทบัญญัติหลายมาตราที่ช่วยยกสถานภาพของอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่ได้เป็นข้าราชการให้สามารถรับสิทธิบางประการทัดเทียมกับกลุ่มอาจารย์ที่เป็นข้าราชการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวด 9 ประกอบด้วยมาตรา 65/1 และมาตรา 65/2 แม้ว่ารัฐบาลชุดที่แล้วได้ปรับปรุงบทบัญญัติเพื่อรองรับสถานภาพอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และมีผลบังคับใช้แล้วก็ตาม เปรียบเสมือนเป็นฐานรากของอาคาร

แต่องค์ประกอบอื่นๆ ที่เป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้อาจารย์กลุ่มดังกล่าวเกิดความรู้สึกว่ามีความมั่นคง มีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน มีรายได้ที่ทัดเทียมกับการทำงานในองค์การอื่นๆ มีสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงได้ไม่น้อยกว่ากลุ่มที่เป็นข้าราชการในสถาบันอุดมศึกษา ระบบการเลื่อนขึ้นเงินเดือนประจำปี ระยะเวลาการจ้าง ฯลฯ อาจารย์กลุ่มดังกล่าวยังมีคำตอบที่ไม่ชัดเจน

แม้ว่าสภาสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งได้ออกข้อบังคับเพื่อกำหนดแนวทางไว้แล้ว แต่แนวปฏิบัติในแต่ละเรื่องตามข้อบังคับของสภา สถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งอาจแตกต่างกันขึ้นอยู่กับมุมมองความชำนาญการ เชี่ยวชาญ และวิสัยทัศน์ ของสภาสถาบันอุดมศึกษารวมทั้งศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง

สถาบันอุดมศึกษาซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของสถาบันจึงมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการจูงใจ และรักษาคนดีคนเก่ง และอาจารย์ที่มีคุณวุฒิสูงให้คงอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ เนื่องจากสภาเป็นผู้ออกข้อบังคับ ระบบบริหารงานบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐจะมีความก้าวหน้าและดลใจให้อาจารย์กลุ่มดังกล่าวมีกำลังใจ รู้สึกว่าตนเองมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ก้าวหน้าทัดเทียมกับการทำงานอื่นๆ ที่มีคุณวุฒิเท่ากันโดยเฉพาะปริญญาเอก

คำถามสำคัญที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการอุดมศึกษาของไทย ก็คือทำอย่างไรที่จะทำให้ข้อบังคับเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของสภาสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่งมีความทันสมัย และจูงใจคนดีคนเก่งอยากเข้าทำงาน หรือคงอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐในลักษณะที่ยั่งยืน

ในประเด็นนี้ท่านเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ดร.สุเมธ แย้มนุ่น) ซึ่งเป็นนักบริหารอุดมศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ที่โดดเด่นคนหนึ่งน่าจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบการบริหารสถาบันอุดมศึกษาให้สำเร็จ

ทำอย่างไรจึงจะมีกรอบมาตรฐานกลางระดับชาติในด้านการบริหารบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาเพื่อใช้เทียบเคียง (Benchmark) ของสภาสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง โดยเฉพาะบทบัญญัติในมาตรา 65/1 และ 65/2 ให้แต่ละแห่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการเทียบเคียงกับมาตรฐาน อาจทำให้มาตรฐานการบริหารบุคคลของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแต่ละแห่งมีช่องว่างและแตกต่างกันมากเกินไป

เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ใหญ่และเป็นที่กังวลของผู้บริหารสถาบันอุดมศึกษาของรัฐกลุ่มนี้ในปัจจุบัน และอนาคตจะเป็นประชาคมส่วนใหญ่ของสถาบันอุดมศึกษารวมทั้งมีบทบาทที่เป็นต้นน้ำหรือตัวแปรอิสระที่สำคัญยิ่งในระบบการผลิตบัณฑิต และการปฏิบัติพันธกิจของอุดมศึกษา

และหากเหลียวมองดูสถาบันอุดมศึกษาข้างเคียงคือ สถาบันอุดมศึกษาเอกชน ซึ่งดูเหมือนว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาแม่เหล็กที่เป็นแหล่งทำงานที่พึงประสงค์ของอาจารย์กลุ่มดังกล่าวเพราะเป็นระบบที่มีความมั่นคง ก้าวหน้ามากกว่า

ฝ่ายการเมืองโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการควรให้ความสำคัญต่อการสร้างสถานภาพของอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐด้วยการกำหนดเป็นวาระระดับชาติ เพื่อให้ทุกส่วนที่เกี่ยวข้องได้รวมพลังในการสร้างระบบการบริหารงานบุคคลของอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐให้มีมาตรฐาน

หรือจะปล่อยให้กลุ่มอาจารย์พนักงานในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โดยเฉพาะในกลุ่มมหาวิทยาลัยของรัฐกลุ่มใหม่ที่กล่าวข้างต้น มีสถานภาพเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราวในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐเท่านั้น

ที่มา : http://news.sanook.com/scoop/scoop_293166.phpv

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น