วันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พนักงานมหาวิทยาลัยกับการทำให้เป็นคนชายขอบ

“พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา โดยได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนจากเงินงบประมาณแผ่นดินหรือเงินรายได้ของสถาบันอุดมศึกษา” เป็นข้อความสั้นๆ ในจำนวน 8 หน้า ที่แสดงถึงการมีตัวตนของการมีอยู่ของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษาหรือพนักงานในมหาวิทยาลัย ใน พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
การกำเนิดเผ่าพันธุ์ของพนักงานในสถาบันอุดมศึกษา สืบเนื่องจากในปี พ.ศ.2542 คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จัดจ้างพนักงานทดแทนอัตราข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพื่อรองรับการออกนอกระบบในปี พ.ศ. 2545 มหาวิทยาลัยออกนอกระบบออกเพื่อใคร??? คืออีกหนึ่งประเด็นที่ต้องการคำตอบมหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ กฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจ ในส่วนของมหาวิทยาลัยที่ต้องการออกนอกระบบ คำถามคือ ออกเพื่อใคร ต้องการออกเพราะความคล่องตัวของการบริหารงาน เพื่อดึงคนเก่งเข้ามาในมหาวิทยาลัย แต่การดึงคนเก่งเข้ามาต้องหารายได้ให้มากเพื่อจะได้มีค่าจ้างที่แพงขึ้นใช่หรือไม่...แล้วรายได้มาจากไหน..จำนวนนักศึกษา การเพิ่มค่าหน่วยกิต เป็นพัฒนาการเพื่อแสวงผลกำไรทางการค้า ถ้าเป็นเช่นนั้นรัฐต้องการส่งเสริมเรื่องการศึกษาเป็นธุรกิจใช่หรือไม่ ที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายของภาครัฐที่ต้องการนำเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ สามารถตอบโจทย์ การพัฒนาการศึกษาไทยได้จริงหรือ....หรือเป็นเพียงคำโป้ปดเพียงแค่อยากผลักภาระของภาครัฐฯ

จากการดำเนินนโยบายมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน แล้วทุกวันนี้ผู้บริหารเกือบทุกมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นใคร..หากไม่เป็นส่วนราชการ เหตุใดจึงมีข้าราชการอยู่ในหน่วยงาน....ต่างกันกับหน่วยงานอื่นที่ถูกแปรรูปไป เช่น การบินไทย ไปรษณีย์ บริษัท ปตท.(การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย)ฯลฯ ที่กลายสภาพเป็นบริษัท มีสภาพแรงงานเป็นผู้ดูแลผลประโยชน์และต่อรองจากฝ่ายบริหาร...แต่ในทางกลับกันมหาวิทยาลัยยังคงใช้ระบบข้าราชการอยู่จนถึงปัจจุบัน การบรรจุอาจารย์ใหม่เรียกว่า “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” ตาม พรบ.ที่กำหนด การที่รัฐบาลจะสร้างมาตรฐานสองระบบในสถานที่เดียวกัน ปัญหาจึงเกิดเพราะหลักการปฏิบัติ ย่อมเกิดความเลื่อมล้ำ จากนโยบายดังกล่าวผลักดันให้อาจารย์ใหม่ในมหาวิทยาลัยเป็นคนชายขอบ สภาวะของความเป็นชายขอบ ทำให้ถูกทอดทิ้ง ถูกเอาเปรียบ และถูกเอาประโยชน์ ถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงทรัพยากร ฯลฯ คนเหล่านี้มักอยู่นอกสายตา ไม่เคยถูกเล็งเห็นและได้รับการช่วยเหลือ สิ่งที่รัฐบาลได้วางนโยบายไว้สวยหรู คือ พนักงานมหาวิทยาลัยต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน อัตราเงินเดือนแรกเข้าโดยให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่มากกว่าข้าราชการ คือ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า สำหรับ สาย ก. และเพิ่มขึ้น 1.5 เท่า ของสาย ข. มีกี่มหาวิทยาลัยที่ทำได้ สิ่งที่พนักงานมหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบ คือความไม่มั่นคงทางอาชีพ เนื่องด้วย พรบ.ดังกล่าว ระบุว่า “พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา” หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับการจ้างตามสัญญาจ้างให้ทำงานในสถาบันอุดมศึกษา” หลักการนี้ผลักดันให้ อาจารย์ใหม่ในมหาวิทยาลัย กลายเป็นอาจารย์อัตราจ้างขึ้นมาทันที หากถูกเลิกจ้างจึงไม่มีสิทธิ์ในการได้รับการชดเชย 3 เดือน จากนายจ้าง ตามกฎหมายแรงงาน เพราะ “มหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์”
นอกจากนี้การเป็นบุคคลไร้สถานภาพ ทำให้ขาดสิทธิ์รักษาพยาบาล พนักงานในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนใหญ่มีระดับการศึกษา ระดับปริญญาโท ปริญญาเอก จัดเป็นกลุ่มมันสมองของประเทศ แต่คนกลุ่มนี้กลับถูกละเลยจากรัฐบาล จ้างโดยสัญญาจ้าง สิทธิ์อื่นใดไม่มี ผลิตบัณฑิตสู่สังคม รุ่นแล้วรุ่นเล่า แต่เงินเดือนยังอยู่ที่หมื่นสองหมื่นสาม ลูกศิษย์ที่สำเร็จการศึกษามีเงินเดือนแซงหน้าลิบ
ระบบศักดินาในมหาวิทยาลัย พนง.มหาวิทยาลัยต่างรู้ดีว่าเป็นพลเมืองชั้นสองในระบบ..ความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย...หลายคนบอกโก้หรู...เป็นแนวหน้าสำหรับจะพาประเทศเข้าสู่อาเซียน อาจารย์ใหม่คิดอยากจะขอสินเชื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ธนาคารยังจัดไม่ถูกว่าอยู่ในหมวดใด จะเป็นข้าราชการก็ไม่ใช่ เป็นลูกจ้างประจำก็ไม่ใช่ ลูกจ้างชั่วคราวก็ไม่เชิง ครูอัตราจ้างก็ไม่ใช่ ธนาคารถามแบบ งงๆ ว่าตกลงคุณเป็นอะไรกันแน่ (รัฐบาลออกมาตอบหน่อยว่า พนักงานมหาวิทยาลัย ตกลงเป็นตัวอะไรกัน??? )

(ครู)คนชายขอบ
6 พฤษภาคม 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น